โรคในผู้สูงอายุที่คุณควรรู้ เพื่อดูแลคนที่คุณรักได้

วัยสูงอายุ (วัยชรา) คือ มนุษย์ที่อยู่ในช่วงปลายของชีวิต โดยในประเทศของเรานั้น ตามกฎหมายระบุไว้ว่าผู้สูงอายุ คือ คนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และประเทศพัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาแล้ว และที่สำคัญกรมอนามัยได้คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2562 จะมีผู้สูงอายุที่อายุ 70 ปีขึ้นไปมากกว่า 4.6 ล้านคน โดยในปี 2562 นี้ผู้สูงอายุมีมากกว่าเด็กอีกด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเตรียมรับมือกับสังคมผู้สูงวัย โดยทุกคนต้องทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุ รวมทั้งรัฐเองก็ต้องมีนโยบายในการดูแลผู้สูงวัยเหล่านี้ด้วย และสิ่งที่ควรใส่ใจให้มากที่สุด นั่นคือ โรคในผู้สูงอายุ
โรคในผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง
โรคในผู้สูงอายุที่พบบ่อยๆก็มักจะเป็นโรคที่เจ็บป่วยเรื้อรังมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงานแล้ว และไม่ได้รับการรักษาหรือดูแล จนทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้นมา และหลายๆโรคก็เกิดจากพฤติกรรมทำลายสุขภาพของตนเองด้วย โดยโรคที่พบบ่อยๆ คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาการสับสนและสูญเสียความทรงจำ ภาวะสมองเสื่อม รวมไปถึงเรื่องการขับถ่าย การนอนไม่หลับ หรือเกิดภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
โรคในผู้สูงอายุ โรคแรก นั่นคือ โรคความดันโลหิตสูง โดยคนปกตินั้นจะมีความดันอยู่ที่ 129/89 มิลลิกรัมปรอทเท่านั้น อาการของโรนี้ก็คือ ปวดหัว ใจสั่น มีอาการพร่ามัว หากพบว่าตนเองเป็นโรคนี้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้าปล่อยไว้นานก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น อัมพฤกษ์ ตาบอด เป็นต้น
โรคเบาหวาน เกิดจากกระบวนการผลิตฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายผิดปกติ คือ ผลิตได้ไม่พอ และส่งผลให้น้ำตาลในเลือกสูงขึ้น อาการของโรคคือ จะหิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย มีน้ำหนักตัวลดลง และมักพบร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ตาพร่ามัว ชาปลายมือปลายเท้า และคนที่เป็นโรคนี้ต้องทานยาและพบแพทย์อยู่เสมอ และระวังอย่าให้ตัวเองมีแผล เพราะว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายนั่นเอง
โรคหัวใจขาดเลือด หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อันนี้เป็นโรคคู่มิตรกับโรคเบาหวาน ความดันและโรคอ้วน รวมทั้งตนทีมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งถ้ามีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้ ก็จะมีแนวโน้มสูงในการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด โดยผู้ป่วยนั้นจะมีอาการแน่นหน้าอกในช่วงราวนม ลิ้นปี่และอาจร้าวไปยังคอ กราม แขนข้างซ้ายด้านใน รวมทั้งอาจมีอาการเหนื่อยหอบหรือหน้ามืด เป็นต้น เพราะฉะนั้นหากคุณเป็นผู้สูงวัยที่มีอาการเจ็บหน้าอก ก็ควรรีบบอกคนใกล้ชิดทันที
อาการสับสนและสูญเสียความทรงจำ หากมีปัญหาสุขภาพที่เฉียบพลัน เช่น การอักเสบติดเชื้อ หัวใจหรือสมองขาดเลือด ก็อาจเกิดอาการเพ้อ งุนงง สับสนได้ง่ายขึ้น แต่หากแก้อาการเหล่านี้ก็จะสามารถรักษาอาการสับสนและสูญเสียความจำได้เอง
ภาวะสมองเสื่อม คือ ภาวะที่สมองทำงานถดถอยในด้านใดด้านหนึ่ง เพราะว่าเริ่มที่จะสูญเสียเซลล์สมองในส่วนนั้นและจะเริ่มลุกลามไปส่วนอื่นๆอย่างช้าๆ เมื่อเวลาผ่านไปนานเป็นสิบปี ความผิดปกติเหล่านี้จะก็จะยิ่งเห็นชัด จนคนรอบข้างเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ทีละน้อย
เราจะดูแลผู้สูงอายุได้อย่างไรบ้าง
-ก่อนอื่น เราต้องพาไปตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจสอบดูว่า มีโรคอะไรแอบซ่อนอยู่หรือเปล่า หรือว่ามีภาวะความเสี่ยงที่จะเป็นโรคในผู้สูงอายุอะไรบ้าง เพื่อจะได้คอยเฝ้าระวังอาการผิดปกติต่างๆของผู้สูงวัยที่อยู่ใกล้ชิดได้
-หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวก็ควรดูแลให้ทานยาและไปตามนัดของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อคุมอาการของโรคและช่วยลดอาการความเจ็บป่วยของโรคลงได้ หรือควบคุมไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุได้
-ดูแลให้ผู้สูงวัยได้มีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ออกกำลังบ้าง และที่สำคัญต้องช่วยกันดูแลสุขภาพจิตด้วย คือ หมั่นพูดคุยแลทะกิจกรรมร่วมกันบ้าง เพราะผู้สูงอายุมักคิดว่าตนเองนั้นว้าเหว่ ไม่มีใครสนใจ เพราฉะนั้นถ้าคุณใส่ใจดูแลเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิตแล้ว โรคภัยไข้เจ็บก็จะไม่ถามหา และพยายามมอบความรักความเข้าใจให้กับผู้สูงอายุด้วย เพื่อให้พวกเขาได้มีความสุขและอยากที่จะดูแลตัวเองเพื่อลูกหลานต่อไป
-หมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติต่างไของผู้สูงอายุ เพื่อจะได้นำส่งแพทย์อย่างทันท่วงที ให้ทำการตรวจรักษาหรือวินิจฉัยอาการของโรคได้ ทำให้รู้ว่าเป็นโรคอะไรหรือมีความเสี่ยงเป็นอะไร จะได้ดูแลได้อย่างถูกต้อง
-ต้องหมั่นติดตามข่าวเกี่ยวกับโรคระบาดต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่อาจเกิดในผู้สูงอายุจะได้หาแนวทางป้องกันได้อย่างถูกต้อง เพราะถ้าป่วยแล้วก็ค่อนข้างที่จะหายยากกว่าวัยอื่นๆ เนื่องจากภูมิต้านทานในร่างกายน้อยลงนั่นเอง เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คุณควรให้ความสำคัญ
ทั้งหมดนี้คือ โรคในผู้สูงอายุและก็การดูแลผู้สูงอายุในเบื้องต้นที่ทุกคนควรเรียนรู้ เพราะตอนนี้ประเทศของเราเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นด้วย และเชื่อเถอะว่าในครอบครัวของเราจะต้องมีผู้สูงวัยอย่างน้อย 1 คน เราจึงควรเรียนรู้ที่จะดูแลได้อย่างถูกต้องที่สุด เพื่อให้ผู้สูงวัยได้มีความสุขในบั้นปลายของชีวิต